Episodes
Wednesday Mar 03, 2021
[สวัสดีชาวโลก] - EP9 Self-Talk โลกของคนชอบพูดคนเดียวเป็นยังไง?
Wednesday Mar 03, 2021
Wednesday Mar 03, 2021
เนื้อหาในตอนนี้
“คนอะไรคุยกับตัวเอง? บ้ารึเปล่า?” เราอาจเคยได้ยินคำถามทำนองนี้ หรือ อาจเคยเห็นตัวร้ายในละครหลังข่าวคิดเสียงดังเป็นฉากๆ ว่าตัวเองจะทำอย่างนั้นจะทำอย่างนี้ การพูดสิ่งที่คิดออกมาเป็นเสียงนั้นเป็นการคุยกับตัวเอง (self-talk) รูปแบบหนึ่ง แม้ว่าอาจจะฟังดูแปลกๆ สำหรับคนที่เป็นผู้ใหญ่ แต่การคุยกับตัวเองเป็นสิ่งปกติในขั้นตอนพัฒนาการการเติบโตของมนุษย์เรา ซึ่งพบมากในตอนที่เรายังเป็นเด็ก และแม้ว่าจะโตแล้วแต่การพูดกับตัวเองนั้นสำคัญมาก และเป็นเคล็ดลับในการจัดระเบียบ และเพิ่มประสิทธิภาพให้กับชีวิตของเราอีกด้วย
วันนี้สวัสดีชาวโลก ชวนเรามา ทำความเข้าใจ โลกของคนชอบพูดกับตัวเองกัน ว่ามันเป็นยังไง และทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
__________________________________________
1. ทำไมคนเราถึงคุยกับตัวเอง [นาทีที่ 2.00]
ศ.พญ. อุมาพร ตรังคสมบัติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก ได้พูดเอาไว้ใน รายการปั้นใหม่ ทาง YouTube โดยสรุปว่า
การคุยกับตัวเองเป็นสิ่งธรรมดาที่เราทุกคนมักทำแต่เราอาจไม่ได้คิดว่ามันมีประโยชน์ยังไง เวลาเห็นเด็กๆ กำลังเล่นแล้วคุยกับตัวเอง พ่อแม่หลายคนอาจสงสัยว่าที่ลูกพูดกับตัวเองนี่ปกติรึเปล่า คุณหมอบอกว่าคนเราเมื่อยังเล็กๆ เราต่างก็มีความคิด แต่ยังคิดในใจไม่เป็น ดังนั้นในตอนเล็กๆ เราจึงมีเสียงพูดกับตัวเองว่าเราน่าจะทำอันนี้ดีกว่าทำอันนั้นดีกว่า หรือพูดกับตัวเองในเชิงของการเลียนแบบคำสั่งของพ่อแม่ออกมาเป็นคำพูดของตัวเอง
พอคนเราโตขึ้นไปอีก เราก็จะเริ่มมีความคิดในหัวสมอง (internalize thought) หรือมีบทสนทนากับตัวเองในเชิง Inner dialog และไม่จำเป็นต้องเปล่งเสียงออกมาอีก (แต่บางคนก็เปล่งเสียงออกมาอยู่) เมื่อโตขึ้นเราก็จะมีโลกส่วนตัว (โลกในหัวของเรา) สิ่งต่างๆ ในโลกส่วนตัวถ้าเราจัดการมันได้ดี ปัญหาต่างๆ ก็จะถูกแก้ไขไปด้วยดีด้วยนั่นเอง
2. การพูดกับตัวเองส่งผลกับตัวเรามากแค่ไหน? [นาทีที่ 4.00]
“ความตายความเป็นอยู่ที่อำนาจของลิ้น และบรรดาผู้ที่รักมันก็จะกินผลของมัน” - สุภาษิต 18:21
พระคัมภีร์ของชาวคริสต์ได้พูดเอาไว้ถึงพลังของคำพูดที่สามารถกำหนดความเป็นความตาย ถ้อยคำอ่อนหวานนั้นเหมือนรวงผึ้งที่เป็นคุณแก่ร่างกาย (สุภาษิต 16:24) ในขณะที่ถ้อยคำเผ็ดร้อนเปรียบได้ดังกับไฟเผาใจเพราะลิ้นนั้นเป็นดั่งไฟ (ยากอบ 3:6) แสดงให้เห็นถึงความสำคัญและอำนาจของคำพูด
คำพูดนั้นมีอำนาจและทรงพลัง เมื่อดังออกจากปากเข้าสู่หูก็จะส่งผลให้สมองคิดตามและเกิดผลกระทบด้านพฤติกรรมต่อผู้ฟัง หากเราฟังคำพูดจากคนรอบข้างๆ ซ้ำ เราอาจจะ “เชื่อ” คำพูดเหล่านั้นในที่สุดมันก็ส่งผลต่อเรา ในทำนองเดียวกันคำพูดที่เราพูดกับตัวเองทุกวันๆ ก็ส่งผลต่อความรู้สึก นึกคิด และการกระทำของเรา โดยบางทีเราก็ไม่รู้ตัว แต่ที่สำคัญกว่านั้นไม่ว่ายังไงคนเราก็มีแนวโน้มที่จะเชื่อตัวเองมากกว่าคนอื่น และเสียงจากข้างในนั้น ไม่ได้พุ่งออกจากปากผ่านอากาศเข้าสู่รูหู แต่วนๆ เวียนๆ อยู่ในสมองของเราโดยจำเป็นต้องไม่ผ่านตัวกลางใดๆ คำพูดที่เราพูดกับตัวเองจึงส่งผลต่อเราได้มาก
เมื่อเราพูดกับตัวเองทุกๆ วัน ความคิดในหัว (internalize thought) และ บทสนทนากับตัวเอง(Inner dialog) ในเชิงลบมันก็จะกัดกินใจข้างในทุกวันไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม
3. ฝึกพูดกับตัวเองในเชิงบวก [นาทีที่ 8.00]
ถ้าเราพูดกับตัวเองในเชิงบวก ในเชิงที่สร้างความหวัง ก็จะส่งผลให้เรามีกำลัง จัดการกับเรื่องอึดอัดใจได้ดี แต่ถ้าพูดกับตัวเองในเชิงลบ ก็จะทำให้ยิ่งปัญหายิ่งเกิดขึ้น การพูดกับตัวเองเชิงบวกจะทำให้เรามีกำลังใจ หาทางออกได้ อีกทั้งยังเป็นระบายความเครียดออกไปและช่วยให้ไม่วุ่นวายใจ
ในสถานการณ์เลวร้ายของชีวิตการฝึกบอกกับตัวเองด้วยข้อความ หรือใส่ความคิดที่ทำให้มีกำลังใจให้กับตัวเอง จะทำให้ไม่เสียใจเกินไป หรือเศร้าเกินไป ถ้าเราฝึกคิดกับตัวเอง หรือใส่ข้อความที่เป็นเชิงบวกลงไป เมื่อเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ขึ้น เราก็จะมีแนวโน้มที่จะพูดกับตัวเองด้วยประโยคที่เราเคยชินนั้น ดังนั้นเราควรเปลี่ยนคำพูดกับตัวเองด้านลบเป็นคำพูดเชิงบวก ด้วยการพูดกับตัวเองอย่างจริงใจ มีเหตุผล ไม่หลอกตัวเอง
เช่น
“มันยากเกินไปฉันทำไม่ได้หรอก” เปลี่ยนเป็น “แม้ว่ามันจะยาก แต่เราต้องทำได้สิ”
“เห็นมั้ย สุดท้ายก็ล้มเหลวตามเคย” เปลี่ยนเป็น “ครั้งนี้เรายังทำไม่ได้ ครั้งหน้าจะทำมันให้ดีขึ้น”
“ฉันมันไม่ดี ฉันมันผิดเอง” เปลี่ยนเป็น “ฉันยังไม่รอบคอบพอ ต่อไปฉันจะต้องรอบคอบมากกว่านี้”
“ฉันอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีเค้า” เปลี่ยนเป็น “ฉันรู้ว่ายังมีคนที่รักฉันอยู่ และฉันต้องอยู่ให้ได้”
“ฉันมันร้องเพลงเพี้ยน ฉันไม่ควรมานำนมัสการเลย” เปลี่ยนเป็น “ฉันรู้ว่าการร้องเพลงเป็นจุดอ่อนของฉัน ฉันจะฝึกฝนให้มากขึ้นและเลือกเพลงที่ง่ายขึ้น”
สิ่งที่เราพูดกับตัวเองเป็นเพียงการสะท้อนมุมมองของเราต่อสถานการณ์ต่างๆ การฝึกพูดกับตัวเองในเชิงบวกนั้นมีเป้าหมายเพื่อให้เราสามารถเห็นคุณค่าในตัวเองหรือเห็นความเป็นไปได้อื่นๆ ที่มีอยู่ท่ามกลางปัญหา ไม่ใช่เพื่อการบิดเบือน “ความเป็นจริง” หรือ “การโกหกตัวเอง”
ตัวอย่างบุคคลในประวัติศาสตร์ (นาทีที่ 11.30)
แม้ว่าหลายคนจะมองว่า คือ ความพยายามของเขาความล้มเหลว โธมัส เอดิสัน นักวิทยาศาสตร์ผู้ประดิษฐ์หลอดไฟ มีมุมมองต่อการทดลองที่ไม่สำเร็จของเขาต่างออกไป
"ผมไม่เคยล้มเหลว ผมแค่พบ 10,000 วิธี ที่ใช้การไม่ได้เท่านั้น"
– โทมัส อันวาเอดิสัน นักประดิษฐ์เอกของโลก
คำพูดของผู้อื่นอาจดูเหมือนคำตัดสินคุณค่าในตัวเรา แต่นั่นก็ไม่สำคัญไปกว่า เราเห็นคุณค่าในตัวเองยังไง ในบทสัมภาษณ์ของ เลดี้ กาก้า นักร้องและศิลปินระดับโลก เธอบอกว่าตัวเธอเองก็เคยถูกคนใกล้ตัวอย่างคนรัก ตัดสินเธอด้วยคำพูดที่ดูถูกดูแคลน แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เธอกลายเป็นคนอย่างคำพูดเหล่านั้นตราบใดที่เธอยังเชื่อในตัวเองอยู่
Lady Gaga Cosmopolitan Magazine Outtakes ฉบับ april 2010
“ฉันเคยมีแฟนคนหนึ่งที่บอกว่าฉันจะไม่มีวันประสบความสำเร็จ ไม่มีทางได้ชิงรางวัลแกรมมี่ ไม่มีทางทำเพลงฮิตและเขาก็หวังว่าฉันจะล้มเหลว ฉันบอกเขาว่า สักวัน (ตอนที่เราไม่ได้อยู่ด้วยกันแล้ว) เธอจะไม่มีทางดื่มกาแฟที่ร้านนั่นโดยที่ไม่ได้ยินเสียงหรือเห็นหน้าฉัน” – เลดี้กาก้า ในนิตยสาร Cosmopolitan ฉบับ April 2010
ตัวอย่างบุคคลในพระคัมภีร์ที่มีความมั่นคงในตัวเอง เช่น
ดาวิด เชื่อว่า โดยการนำของพระเจ้า ตัวเองจะสามารถล้มยักษ์โกไลแอทได้ แม้ว่าจะไม่มีใครเลยที่เชื่อแบบนั้น
ในสถานการณ์ที่เลวร้าย ดาวิดเลือกที่จะ สรรเสริญพระเจ้าภายในใจของเขา โดยร้องเพลงถึงความดีที่พระองค์ได้กระทำ
4. การฝึกพูดกับตัวเองเป็นการจัดระบบความคิด [นาทีที่ 15.20]
นอกจากการให้กำลังใจ หรือบั่นทอนกำลังใจของตัวเองด้วยคำพูดแล้ว วิธีที่เราพูดกับตัวเองยังเป็นการจัดระบบความคิดให้กับตัวเองอีกด้วย เช่น การที่เราพูดว่า “วันนี้เหนื่อยจังไว้พรุ่งนี้ค่อยเริ่มอ่านหนังสือ” หรือ “วันนี้ฉันจะต้องอ่านหนังสือให้จบให้ได้” ย่อมส่งผลต่างกัน หรือ การพูดกับตัวเองว่า “ฉันจะไม่ยอมเกินเลยกับใครถ้ายังไม่แต่งงาน” กับ “อยากตื่นมาแล้วมีใครอยู่ข้างๆ จัง” ก็ทำให้เกิดการกระทำและการวางตัวที่แตกต่างกัน (ระหว่างดาวิด กับ โยเซฟ ในเรื่องนางบัชเชบา และภรรยาของโปฟิฟาร์ เป็นตัวอย่างที่ดีของการมีจุดยืนในตัวเอง เพราะนำไปสู่การกระทำที่แตกต่างกันชนิดคนละขั้ว)
5. ใช้พระคัมภีร์พูดกับตัวเอง และอย่าลืมที่จะพูดกับพระเจ้า [นาทีที่ 16.20]
“ข้าพระองค์ได้สะสมพระดำรัสของพระองค์ไว้ในใจของข้าพระองค์” - สดุดี 119:11
หลายคนอาจจะไม่รู้ว่าจะพูดกับตัวเองในแง่บวกแบบไหน ชูใจอยากบอกว่า...มีข้อพระคัมภีร์มากมายที่เต็มไปด้วยกำลังใจ ข้อความที่ให้ความหวัง และเพิ่มเติมกำลังใจให้แก่เราทุกคน การสะสมข้อความจากพระคัมภีร์ผ่านการอ่าน หรือฟัง จะช่วยให้เรามีถ้อยคำแห่งการหนุนใจเพื่อใช้สำหรับหนุนใจตัวเอง และผู้อื่น
และสุดท้ายนี้ ข้อดีของการได้เป็นลูกของพระเจ้าก็คือ เราไม่จำเป็นต้องพูดกับตัวเองเท่านั้น นอกจากการที่เราจะพูดกับตัวเองในเชิงบวกหรือพูดให้กำลังใจตัวเองแล้ว เราก็ยังสามารถขอกำลังที่มาจากพระเจ้าในการเผชิญกับสถานการณ์เหล่านั้นในชีวิตได้อีกด้วย เพราะว่าคริสเตียนยังพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่อยู่ภายในเรา ไม่มีอะไรต้องอายหรือปกปิดเมื่อเราเจอสถานการณ์ต่างๆ เราสามารถเปิดเผยและพูดกับพระเจ้าได้อย่างจริงใจเหมือนกับที่เราไม่มีอะไรต้องปิดบังตัวเอง เพราะพระเจ้าทรงรู้และพร้อมที่จะเป็นอีก 1 กำลังใจใหญ่ๆ ให้กับเรา
- ข้อมูลเพิ่มเติม :
-
What Are the Benefits of Self-Talk? healthline.com , สืบค้นเมื่อ 1 มีนาคม ค.ศ. 2021
-
การคุยกับตัวเอง ศ.พญ. อุมาพร ตรังคสมบัติ , สืบค้นเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2021
- บทสัมภาษณ์ของเลดี้กาก้า www.popsugar.com ,สืบค้นเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2021
Comments (0)
To leave or reply to comments, please download free Podbean or
No Comments
To leave or reply to comments,
please download free Podbean App.