Episodes
Wednesday Sep 06, 2017
EP.7 - 3 คำถามที่จะช่วยตัดสินใจเรื่องใหญ่ๆ ในชีวิต [รู้เขารู้เรา]
Wednesday Sep 06, 2017
Wednesday Sep 06, 2017
- พูดคุยกันแบบหมดเปลือกวิธีการเลือกและตัดสินใจในภาวะยากลำบากของชีวิตว่าต้องทำอย่างไร? จากประสบการณ์ตรงในการตัดสินใจ และการยกตัวอย่างของแต่ละคำถาม
___________________________
1. ถ้าเราเลือกได้ (มีอิสระ) เรายังจะทำสิ่งที่ทำในทุกวันนี้อยู่หรือไม่ ?
[นาทีที่ 5.05]
ถ้าไม่มีหนี้มีสิน ไม่ต้องดิ้นรนหาเงินเพื่อมาเลี้ยงดูใคร ถ้ามีอิสระในการเลือกรายังอยากจะเรียนคณะสาขานี้ไหม? หรือถ้าไม่มีใครบังคับ เราจะเลือกทำสิ่งที่กำลังทำอยู่ไหม? การที่เราสำรวจตัวเองด้วยคำถามนี้เพื่อเราจะได้เห็นชัดเจนขึ้นว่าถ้าเราตัดสิ่งที่กดดันชีวิตเหล่านี้ออกไป เราอยากจะทำอะไรจริงๆ
2. ถ้าเวลาคือสิ่งมีค่า เราอยากลงทุนเวลา กับอะไร?
[นาทีที่ 10.35]
เราทุกคนมีธนาคารเวลา ที่ในแต่ละวันเราจะได้รับเวลาปริมาณเท่ากัน และเมื่อสิ้นสุกวันเงินในบัญชีจะถูกลบทิ้งทั้งหมด และได้รับเงินก้อนใหม่วันถัดไป คือ เวลาที่เราได้รับในแต่ละวันเราไม่สามารถสะสมไว้ใช้ในวันถัดไปได้
คลิปตัวอย่างที่พูดถึงใน PODCAST ธนาคารเวลา
ที่นี่ >>> https://www.youtube.com/watch?v=ceB5BMUeyyU
ทุกวินาทีมีคุณค่า...
ภาษาอังกฤษ เรียก “เวลาปัจจุบัน” ว่า Present และเป็นคำเดียวกับคำว่า “ของขวัญ”
ดังนั้นเวลาก็เหมือนของขวัญที่เราได้รับมาจากพระเจ้า
“เวลาของเรามีจำกัด อยู่ที่ว่าเราจะลงทุนเวลาที่เรามีไปกับอะไร”
3. แล้วพระเจ้าว่ายังไง ?
[นาทีที่ 18.10]
คำถามสุดท้ายเป็นที่สำคัญที่สุดในชีวิตคริสเตียน เป็นที่เป็นบทสรุปของทุกการตัดสินใจ เราจะรู้ว่าพระเจ้ามีน้ำพระทัยยังไง ให้เราอธิษฐานแสวงหาน้ำพระทัยเป็นการส่วนตัว และสามารถฟังเพิ่มเติมหากยังไม่เคยฟังวิธีการเช็คว่าพระเจ้าเรียกเราแบบไหน ใน EP. 4 ที่ผ่านมาอ่านได้ทางลิงค์นี้ >>> EP. 4 “จะรู้ได้อย่างไร ว่าพระเจ้าเรียก”
หากชาวชูใจฟังแล้วก็ยังยังไม่มั่นใจอยู่ดี…
“ขอให้รู้ว่า พระเจ้าเองเป็นผู้สร้างเราและมอบเวลา 86400 วินาทีต่อวันแก่เรา และเป็นพระเจ้าที่ใส่ความชอบ และความถนัดด้านต่างๆ กับเรา พระองค์เป็นพระเจ้าผู้นำชีวิตของเรา และไว้ใจได้มากที่สุด”
_______________________________
ลองใช้เวลาทบทวนกับคำถามทั้งสามข้อนี้ดู
- ถ้ามีอิสระในการเลือกเราจะทำสิ่งนี้ไหม?
- เราอยากลงทุนเวลากับสิ่งนี้ไหม?
- และถ้าเราเลือกสิ่งนี้พระเจ้าจะว่าอย่างไร?
_______________________________
ขอขอบคุณที่ปรึกษาด้านเนื้อหา :
อ. เจนจิต เลิศมาลีวงศ์ อาจารย์ประจำหมวดวิชาพระคัมภีร์ใหม่ โรงเรียนคริสต์ศาสนศาสตร์แบ๊บติสต์ สวนพลู (TBTS)
Wednesday Aug 30, 2017
EP.6 - จะรู้จักตัวเองมากขึ้นได้อย่างไร? [รู้เขารู้เรา]
Wednesday Aug 30, 2017
Wednesday Aug 30, 2017
Highlight
- การรู้จักตัวเองมาขึ้นมีหลากหลายวิธี วันนี้เราจะมารู้จักตัวเองมากขึ้นผ่านการวัดโดยใช้ MBTI
- เช็คให้รู้! เราอยู่ในกลุ่มไหนของ MBTI ทั้ง 4 กลุ่มและเราจะพัฒนาให้เติบโตมากขึ้นได้อย่างไร?
___________________________
หลายคนมีใจอยากรับใช้แต่ยังไม่แน่ใจว่าตัวเองเหมาะกับงานรับใช้แบบไหน หรือกำลังค้นหาว่างานไหนที่ใช่ตัวเรา อะไรคือสิ่งที่เราทำแล้วจะเกิดผลลัพธ์ที่ดี และทำไมบ้างครั้งเราถึงอัดในการทำบางสิ่งทั้งๆ ที่เราคิดว่าเราน่าจะชอบ การที่เรารู้จักตัวเองก่อนจะช่วยทำให้เราเลือกได้ดียิ่งขึ้น
กระบวนการรู้จักตัวเองของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน รวมๆ แล้วจะมาจากประสบการณ์ สถานการณ์ต่างๆ คนรอบตัว ที่สำคัญเราสามารถรู้จักตัวเองมากขึ้นผ่านการอ่านพระคัมภีร์ด้วย ...นอกจากนั้นพระเจ้าก็ให้สติปัญญาแก่มนุษย์ในการที่จะรู้จักตัวเองมาขึ้นผ่านวิธีการต่างๆ และแม้แต่บรรดาแบบวัดบุคลิกภาพที่มีมากมาย ก็ช่วยให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้นได้เช่นกัน
มาเข้าใจบุคลิกภาพและความคิดตัวเองผ่าน MBTI
MBTI เป็นแบบวัดบุคลิกภาพ หนึ่งในหลายๆแบบที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก
อาจจำแนกลักษณะวิธีคิดของผู้คนเป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่
- 1. กลุ่มช้าง (S+F) Sensing + Feeling
- 2. กลุ่มหมาป่า (S+T) Sensing + Thinking
- 3. กลุ่มแมวน้ำ (N+F) Intuition + Feeling
- 4. กลุ่มนกฮูก (N+T) Intuition + Thinking
ทั้ง 4 กลุ่มก็จะมีจุดแข็ง จุดบอด และแนวทางการพัฒนาที่แตกต่างกันไป วันนี้เราจะมาทำความเข้าใจตัวเองมากขึ้นผ่าน การใช้เกณฑ์ MBTI แบบสั้นๆ ง่ายๆ สไตล์ชูใจ เพื่อนำมาประยุกต์ในการเลือกว่า งานรับใช้แบบไหนเหมาะกับตัวเรา
สามารถอ่านเพิ่มเติม ได้ทางเว็บไซด์ >>>
https://www.choojaiproject.org/2017/08/get-to-know-ep6-how-to-get-to-know-myself-with-mbti/
___________________________
พูดคุยโดย :
วอร์ วรรัก และ เจด เจษฎา
นักศึกษาพระคริสต์ธรรมด้านการให้คำปรึกษา
ที่ปรึกษาด้านเนื้อหา :
อ. เจนจิต เลิศมาลีวงศ์ อาจารย์ประจำหมวดวิชาพระคัมภีร์ใหม่ โรงเรียนคริสต์ศาสนศาสตร์แบ๊บติสต์ สวนพลู (TBTS)
.
Wednesday Aug 30, 2017
EP.5 - ฉันโลกส่วนตัวสูงรึเปล่า [รู้เขารู้เรา]
Wednesday Aug 30, 2017
Wednesday Aug 30, 2017
โลกส่วนตัวสูงคืออะไรกันแน่?
[นาทีที่ 4.38]
นิยามคำว่าคนโลกส่วนตัวสูงของเราแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนบอกว่าเป็นคนเก็บตัว บางคนนิยามว่าเป็นคนเข้าสังคมไม่เก่ง บางคนบอกว่าเป็นคนที่คุยกับตัวเองไม่รู้เรื่องบ้างล่ะ ไม่มีทักษะทางสังคม หรือคนที่เก็บตัวอยู่แต่ในห้องบ้างล่ะ
ทำความเข้าใจกันก่อนว่า…
“คนเก็บตัวก็คือคนเก็บตัว คนเข้าสังคมไม่เก่งก็คือคนเข้าสังคมไม่เก่ง
คนโลกส่วนตัวสูงก็คือคนโลกส่วนตัวสูง” - [นาทีที่ 5.15]
เราทุกคนล้วนมีโลกส่วนตัว ซึ่งก็คือ ขอบเขตของความเป็นส่วนตัวที่เราไม่อนุญาตให้โลกภายนอกเข้ามาสัมพันธ์ข้องเกี่ยว ทั้งพื้นที่จริงๆ และพื้นที่ในหัว อย่างเช่น บ้าน ห้องนอน ความคิด ไอเดีย เวลาพักผ่อน
"คนโลกส่วนตัวสูง ไม่ใช่คนเก็บตัวเสมอไป... เราทุกคนมีล้วนมีโลกส่วนตัว
จะมากน้อยแตกต่างกันไป มากหน่อยเรียกว่า Introvert น้อยหน่อยเรียกว่า Extrovert"
___________________________
แล้วเราอยู่กลุ่มไหน Introvert หรือ extrovert?
[นาทีที่ 6.37]
คาร์ล จุง นักจิตวิทยาชื่อดัง ได้แยกประเภทคนออกเป็นสองประเภท จากลักษณะธรรมชาติพื้นฐาน ในการรับพลัง หรือการฟื้นพลังใจ ซึ่งความแตกต่างนี้เป็นเรื่องเฉพาะบุคคลที่ไม่เหมือนกัน
หลักๆ แล้ว Introvert เป็นคนที่มีการรับพลังจากโลกภายใน เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลง ปลีกวิเวก หรืออยู่กับเพื่อนสนิทส่วน Extrovert มีการรับพลังงานจากโลกภายนอก เช่น การออกไปพบปะ มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้าง
⚪ Introvert เป็นแบบไหน? - [นาทีที่ 8.00]
◾ เวลาอยู่กับคนอื่นมักจะคิดอยู่เสมอ ว่าตอนนี้ต้องพูดอะไร
◾ เวลาอยู่ในกลุ่มเพื่อน มักจะไม่ค่อยพูด หรือพูดไม่ทัน
◾ แต่เวลาอยู่กับคนสนิทๆ ไม่กี่คนก็สามารถพูดได้ดี
◾ ชอบอยู่ลำพัง หรืออยู่กับคนที่สนิทกลุ่มเล็กๆ จะมีความสุขมากกว่า
◾ ใช้ความคิดกับตัวเอง หรือความรู้สึกของตัวเอง
◾ ความเงียบสำหรับ Introvert คือเพื่อน หรือเป็นเรื่องปกติ
◾ ชอบคิด จินตนาการ ทบทวนตัวเอง แรงบัลดาลใจมักเกิดจากภายใน
⚪ Extrovert เป็นแบบไหน? - [นาทีที่ 10.15]
◾ เวลาอยู่กับคนจะแสดงออกเป็นธรรมชาติ คิดแล้วพูดได้เลย
◾ มีอิสระในการแสดงออก สามารถสื่อสารสิ่งที่คิดได้ทันที
◾ แสดงอารมณ์ได้เต็มที่ ทั้งหัวเราะ ร้องไห้ โกรธ
◾ คิดเร็ว พูดเร็ว ทำเร็ว บางครั้งก็คิดไปด้วยพูดไปด้วย
◾ ไม่ค่อยคุ้นชินความเงียบ มักเงียบเฉพาะเวลามีปัญหา อยู่กับความเงียบนานๆ ไม่ได้
◾ รู้สึกมีพลังเมื่อได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น มีประสบการณ์ร่วมกับคนอื่น
◾ รับแรงบันดาลใจจากภายนอก
(ให้มองเป็น สเกล เพราะ อยู่กลุ่ม Extrovert เหมือนกันก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องชอบพูดเยอะๆ เหมือนกันทุกคน หรือ อยู่กลุ่ม Introvert เหมือนกันก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเงียบๆ เหมือนกันทุกคน ...คนที่สเกลสูงหน่อยอาจชอบอยู่คนเดียวมากหน่อย และคนที่สเกลน้อยหน่อยก็อาจจะอยู่คนเดียวน้อยหน่อย)
___________________________
ซึ่งทั้งสองกลุ่มนี้มักจะไม่เข้ากันกันอยู่ 3 ประเด็นหลัก
1. การพูด การแสดงออก ที่ต่างกัน
2. ความเป็นส่วนตัว ที่ต่างกัน
3. ความหมายของ “ความเงียบ” ที่ต่างกัน
ปัญหาและมุมมองที่ขัดแย้งกันของ Introvert กับ Extrovert
[นาทีที่ 16.35]
Introvert มักมอง Extrovert ยังไงนะ? ...
Extrovert มักมอง Introvert ยังไงล่ะ? ...
แล้วเราจะทำยังไงให้อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข?
[นาทีที่ 25.50]
⚪ Extrovert ปรับตัวเข้ากับ Introvert ยังไงดี?
- เคารพพื้นที่ส่วนตัวของกันและกัน ให้เรายอมรับสักหน่อยถ้าเขาจะเก็บบางเรื่องไว้เป็นเรื่องส่วนตัว
- ไม่ต้องผลักดัน introvert ให้เข้าสังคม ให้อิสระเขาในการเลือกกิจกรรมโดยไม่จำเป็นต้องตัวติดกันตลอดเวลา
- เรียนรู้ที่จะอยู่ด้วยกันในความเงียบบ้าง
- เรียนรู้ที่จะเรียบเรียงคำพูด และพูดให้ตรงประเด็น หรือบอกประเด็นก่อนพูด
⚪ Introvert ปรับตัวเข้ากับ Extrovert ยังไงดี?
- ถามไถ่และชื่นชม Extrovert บ้าง และฟังสิ่งที่เขาเล่า
- ลองออกไปทำสิ่งต่างๆ กับชาว Extrovert บ้าง
- สื่อสารความคิดและความรู้สึกให้มากขึ้น
- สนใจเค้าและพยายามมีประสบการณ์ร่วมกัน
การที่สองกลุ่มนี้จะอยู่ร่วมกันอย่าง Happy ก็คือ การบาลานซ์ระหว่าง…
อยู่คนเดียวด้วยกัน
กับ สนใจและมีประสบการณ์ร่วมกัน
"อย่าให้ต่างคนต่างเห็นแก่ประโยชน์ของตนฝ่ายเดียว
แต่จงเห็นแก่ประโยชน์ของคนอื่นๆ ด้วย"ฟิลิปปี 2:4 (TH1971)
_______________________________
ฟังแล้วลองฝึกกัน อยากให้น้องๆ ลองถามตัวเองดูว่า...
เราบาลานซ์ ระหว่าง การ อยู่คนเดียว ด้วยกันกับ Introvert และ สนใจและมีประสบการณ์ร่วมกัน กับ Extrovert ได้…
- มากน้อยแค่ไหน?
- และเราจะเริ่มทำอะไรได้บ้าง ...ที่จะช่วยให้บาลานซ์มากขึ้น?
_______________________________
ขอขอบคุณที่ปรึกษาด้านเนื้อหา :
อ. เจนจิต เลิศมาลีวงศ์ อาจารย์ประจำหมวดวิชาพระคัมภีร์ใหม่ โรงเรียนคริสต์ศาสนศาสตร์แบ๊บติสต์ สวนพลู (TBTS)
Wednesday Aug 30, 2017
EP.4 - จะรู้ได้ยังไงว่าพระเจ้าเรียก [รู้เขารู้เรา]
Wednesday Aug 30, 2017
Wednesday Aug 30, 2017
“เมื่อพระเจ้าเรียก พระเจ้าจะมีวิธีการพูดกับเราแบบที่เราจะรู้ว่าพระเจ้านำ
และพระเจ้าจะจัดเตรียมสิ่งที่จำเป็น”
พระเจ้าเรียกเราแบบไหนบ้าง?
[นาทีที่ 9.28]
>> แบบที่ 1 การเรียกแบบอย่างเฉพาะเจาะจง - [นาทีที่ 9.44]
เช่น การทรงเรียกโมเสส ในเหตุการณ์ที่พุ่มไม้ไฟ โมเสสได้พบกับพระเจ้าและพระองค์ทรงเขาอย่างเรียกเจาะจงให้เขาไปนำประชากรอิสราเอลออกจากอียิปต์ การทรงเลือกแบบนี้พระเจ้าบอกชัดเจนกับเราอย่างเจาะจงเลยว่า ให้ใคร ให้ไปทำอะไร ที่ไหน เพื่ออะไร
"และบัดนี้จงไปเถิด เราจะใช้เจ้าไปเข้าเฝ้าฟาโรห์
เพื่อจะได้พาประชากรของเราคือชนชาติอิสราเอลออกจากอียิปต์"
- (อพยพ 3:10)
>> แบบที่ 2 การเรียกแบบอย่างไม่เฉพาะเจาะจง - [นาทีที่ 11.00]
เช่น อับราฮัม ที่ได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งความเชื่อ ที่พระเจ้าทรงเรียกออกมาก่อนแล้วค่อยๆ สำแดงสิ่งต่างๆ ระหว่างทางโดยที่ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง พระเจ้าก็จะนำและเปิดเผยไปทีละขั้น
พระยาห์เวห์ตรัสแก่อับรามว่า “เจ้าจงออกจากดินแดนของเจ้า
จากญาติพี่น้องของเจ้าจากบ้านบิดาของเจ้า
ไปยังดินแดนที่เราจะสำแดงแก่เจ้า” - (ปฐมกาล 12:1)
ควรรู้ก่อนว่าตอนนี้พระเจ้าเรียกเราแบบไหน?
[นาทีที่ 13.20]
>> แบบเฉพาะเจาะจง (อพยพ3:10)
>> หรือไม่เฉพาะเจาะจง (ปฐมกาล12:1)
โดยสามารถเช็คดูความมั่นใจ ว่าพระเจ้าเรียกเราได้จาก 3 ด้าน
[นาทีที่ 14.30]
1. จากข้างใน : ผ่านความชอบ ความปรารถนา - [นาทีที่ 15.05]
พระเจ้าทรงเร้าจิตใจข้างในของเรา อาจเป็นความชอบ ความถนัด หรือ ภาระใจในสิ่งนั้นๆ หากเรายังไม่รู้ว่าเรามีความชอบหรือไม่ชอบอะไรเราสามารถหาโอกาสทดลองในงานรับใช้หรืองานนั้นๆ ดู (ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นงานที่ถูกเรียกว่างานรับใช้อยู่แล้ว พระเจ้าอาจจะเรียกเราให้ทำสิ่งใหม่ๆ ก็ได้) ที่สำคัญ…อย่าพึ่งบอกว่าไม่ใช่ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ลอง และไม่ได้เกี่ยวว่าจะมีใครทำสิ่งนั้นได้ดีกว่าเรามั้ยเพราะว่าพระเจ้าไม่ได้เรียกให้เรามาแข่งกัน แต่พระเจ้าเรียกให้เราทำก็คือเรียกให้เราทำ
2. จากข้างนอก : ผ่านคน ผ่านสถานการณ์ - [นาทีที่ 17.10]
พระเจ้าอาจจะบอกเราผ่านคนบางคนที่เป็นผู้ใหญ่ฝ่ายวิญญาณ หรือสถานการณ์บางอย่างที่เฉพาะเจาะจงกับเรา เพราะว่าทุกอย่างไม่มีคำว่าบังเอิญสำหรับพระเจ้า
3. จากข้างบน : ผ่านพระคัมภีร์ - [นาทีที่ 20.10]
พระเจ้าบอกเราผ่านการเฝ้าเดี่ยว การอธิษฐาน และการอ่านพระคัมภีร์ ซึ่งวิธีการเหล่านี้เป็นการฟังเสียงของพระองค์โดยตรง
_______________________________
ฟังแล้วลองฝึกกัน อยากให้น้องๆ ลองถามตัวเองดูว่า...
● ตอนนี้คิดว่าพระเจ้าเรียกเราด้วยวิธีการไหน?
● และมีด้านไหนบ้างที่พระองค์คอนเฟิร์มกับเราแล้ว?
_______________________________
ขอขอบคุณที่ปรึกษาด้านเนื้อหา :
อ. เจนจิต เลิศมาลีวงศ์ อาจารย์ประจำหมวดวิชาพระคัมภีร์ใหม่ โรงเรียนคริสต์ศาสนศาสตร์แบ๊บติสต์ สวนพลู (TBTS)
Wednesday Aug 30, 2017
EP.3 - เตือนยังไงไม่ให้ช้ำ [รู้เขารู้เรา]
Wednesday Aug 30, 2017
Wednesday Aug 30, 2017
การเตือนมี 2 แบบ คือแบบมีศิลปะ กับแบบไม่มีศิลปะ
[นาทีที่ 3.00]
ในเรื่องๆ เดียวกันที่มีคนเตือน คนเราอาจตอบสนองต่อการเตือนนั้นๆ ไม่เหมือนกัน กับบางคนเราโอเคแต่กับบางคนเราไม่โอเค ที่เป็นแบบนี้เพราะองค์ประกอบหลายอย่าง เช่น อายุ, ความเกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆ ของคนพูด, ความสัมพันธ์, ความเคารพนับถือ และศิลปะในการเตือนของคนๆ นั้น
ผลของการเตือนที่ไม่มีศิลปะ นอกจากผู้ถูกเตือนจะรู้สึกไม่โอเคจนไม่เปิดใจฟังแล้วยังส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์ด้วย คนเราเมื่อเจ็บปวดก็จะพยายามหลีกเลี่ยงในการเผชิญหน้า เมื่อถูกเตือนแบบไม่มีศิลปะบ่อยๆ อาจทำให้คนที่ถูกเตือนรู้สึกไม่ดีจนถึงขั้นหนีหน้าไปเลยเพราะเสียความรู้สึก
พระคัมภีร์สุภาษิตได้ให้หลักการของการเตือนแบบมีศิลปะไว้ว่า …
"คนที่มีคำตอบเหมาะๆ ในปากย่อมยินดี
คำเดียวที่ถูกกาลเทศะก็ดีจริงๆ "
สุภาษิต 15:23 (THSV11)
เราจะพูดให้ถูกจังหวะและถูกคำพูดยังไง?
[นาทีที่ 6.45]
จากหลักการใน สุภาษิต 15:23 แบ่งองค์ประกอบในการเตือนที่ดี เป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ ได้แก่
คำตอบเหมาะๆ ในปาก = ถูกคำพูด
คำเดียวที่ถูกกาลเทศะ = ถูกจังหวะ
1. พูดให้ถูกจังหวะ
[นาทีที่ 7.27]
จังหวะเป็นสิ่งสำคัญ การผิดจังหวะอาจจะทำให้คนฟังเหวอและวงแตก การพูดให้ถูกจังหวะนั้นแบ่งเป็น 2 รอ ดังนี้…
- รอดูอารมณ์ก่อน (ทั้งอารมณ์ของเค้าและอารมณ์ของเรา) - [นาทีที่ 8.45]
ในขณะที่อารมณ์ยังไม่พร้อมคนเราไม่สามารถตีความสารที่เราต้องการสื่อได้อย่างเป็นกลาง การเข้าไปคุยกับเขาในเวลานั้นอาจจะยิ่งทำให้เสียเรื่อง นอกจากอารมณ์ของเค้าแล้วข้อนี้ยังหมายรวมถึงอารมณ์ของเราด้วยเพราะบางขณะที่เราเองก็ไม่นิ่ง เช่น เวลาอารมณ์ร้อนๆ เราก็อาจจะพูดอะไรที่ไม่เข้าหู หรือแม้กระทั่งเราพูดคุยด้วยคำปกติ แต่สีหน้าและอารมณ์ก็อาจจะแสดงออกมา และคนฟังเค้าสามารถสังเกตได้
- รอฟังก่อน (เพราะทุกคนมีเหตุผลของตัวเอง) - [นาทีที่ 12.05]
เราไม่ควรรีบด่วนสรุปและตัดสินเขา แม้ว่าเหตุผลที่เขาให้มานั้นจะฟังขึ้นหรือไม่ขอให้เราเปิดใจฟังก่อน และเมื่อถึงเวลาต้องตักเตือน ถ้าเราฟังเขาก่อนแล้วเขาก็จะฟังเราเช่นเดียวกัน
2. พูดให้ถูกคำพูด
[นาทีที่ 14.05]
- พูดความรู้สึกเราก่อน - [นาทีที่ 14.17]
การพูดความรู้สึกก่อนเป็นการสื่อเข้าไปถึงจิตใจได้โดยตรง ซึ่งจะทำให้อีกฝ่ายสัมผัสได้ถึงความรักความห่วงใยที่มีต่อเขา การสื่อสารไปที่หัวใจก่อนจะทำให้เขาเปิดใจรับฟังเรามากกว่าการพูดความคิดเห็น
- พูดความผิดเราก่อน - [นาทีที่ 16.25]
เดล คาร์เนกี ในหนังสือวิธีเอาชนะมิตรและจูงใจคนได้เขียนไว้ว่า* “ก่อนที่จะพูดถึงความผิดของคนอื่น ให้พูดเรื่องความผิดของตัวเองก่อน”
การพูดความผิดของเราก่อน มีข้อดีคือ เปิดใจอีกฝ่ายให้เห็นว่าทุกคนสามารถทำผิดพลาดได้เหมือนกัน เราเห็นใจเขา และเป็นพวกเดียวกันกับเขาไม่ได้วางตัวอยู่เหนือกว่า เช่น สมัยพี่อายุเท่าเราพี่ก็เคยผิดพลาดในเรื่องนี้…ดังนั้นพี่เข้าใจเรานะ … บลาๆๆ
- พูดเตือนด้วยความรัก - [นาทีที่ 18.52]
สีหน้า ท่าทาง และน้ำเสียงที่ปราศจากความรัก ทำให้ผู้ฟังรู้สึกถูก “ตำหนิ” มากกว่า “การเตือน” ข้อนี้ต่อเนื่องมาจาก EP. 1 พูดตรงๆยังไงไม่ให้พัง? สามารถคลิ๊กฟังย้อนหลังได้ที่นี่ >>> "พูดตรงๆยังไงไม่ให้พัง"
สรุป :
การเตือนจากใจไม่ให้เค้าช้ำนั้นบางครั้งเราก็ต้องเป็นฝ่ายเตรียมใจของเราที่อาจจะช้ำแทนด้วย เพราะบางครั้งสิ่งที่เราเตือนเค้าไปด้วยความรัก เค้าอาจจะฟังหรือไม่ฟังก็ได้ แต่ไม่ว่าจะยังไงเราก็ได้ทำหน้าที่ของเราอย่างดีที่สุดและได้สำแดงความรักของพระเจ้ากับเค้าแล้ว
สิ่งสำคัญคือให้เราสำรวจใจตัวเองให้ดีด้วยว่า สิ่งที่เรากำลังเตือนเค้านั้นเป็นเพียงแค่ความรู้สึกของเรา หรือเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับความจริงและวิถีของพระเจ้า
“ จะเตือนทั้งทีต้องเตือนด้วย ความจริง พร้อมความรัก อย่างมีศิลปะให้รู้จักรอ และรู้จักพูด” –(พี่วอร์)
[นาทีที่ 27.30]
“เรามีหน้าที่สื่อสารเท่านั้นแต่คนที่จะเปลี่ยนแปลงเค้าคือพระเจ้าไม่ใช่ตัวเรา หรือคำพูดของเรา” –(พี่เจด)
[นาทีที่ 28.12]
_______________________________
ฟังแล้วลองฝึกกัน อยากให้น้องๆ ลองถามตัวเองดูว่า...
● เราเตือนแบบมีศิลปะ มากน้อยแค่ไหน?
● และถ้าเราจะเตือนให้ดีขึ้น จะเริ่มต้นจากอะไรก่อน?
_______________________________
ขอขอบคุณที่ปรึกษาด้านเนื้อหา :
อ. เจนจิต เลิศมาลีวงศ์ อาจารย์ประจำหมวดวิชาพระคัมภีร์ใหม่ โรงเรียนคริสต์ศาสนศาสตร์แบ๊บติสต์ สวนพลู (TBTS)
*อ้างอิงหลักการบางส่วนจาก: หนังสือวิธีชนะมิตรและจูงใจคน (How to Win Friends and Influence People) ผู้เขียน เดล คาร์เนกี (Dale Carnegie) สำนักพิมพ์ แสงดาว
Wednesday Aug 30, 2017
EP.2 - ปฏิเสธยังไงไม่ให้เขาเจ็บ [รู้เขารู้เรา]
Wednesday Aug 30, 2017
Wednesday Aug 30, 2017
เพราะการปฏิเสธเป็นการสื่อสารที่มักจะทำร้ายความสัมพันธ์ดังนั้นหลายคนจึงกลัวที่จะเป็นฝ่ายปฏิเสธ หรือแม้กระทั่งกลัวที่จะถูกปฏิเสธ แต่ถ้าเราจำเป็นต้องพูดออกไป… ก็ขอให้เราเรียนรู้ที่จะใช้วิธีการที่ไม่ทำร้ายจิตใจใคร
“เพราะว่า ไม่มีใครหรอกนะที่จะอยากถูกปฏิเสธบ่อยๆ”
การปฏิเสธมี 2 แบบ คือแบบ รักษาน้ำใจ และ แบบไม่รักษาน้ำใจ
[นาทีที่ 4.55]
การปฏิเสธแบบรักษาน้ำใจ จะไม่ค่อยทำให้ผู้ที่เราปฏิเสธรู้สึกแย่กับเรา ในขณะที่การปฏิเสธแบบไม่รักษาน้ำใจ ทำให้เกิดความเจ็บปวด ผู้ถูกปฏิเสธอาจรู้สึกถูกปฏิเสธมากกว่าสิ่งที่ขอแต่เหมือนเป็นการถูกปฏิเสธตัวตนเลยทีเดียว นอกจากความรู้สึกแย่ๆ ที่เกิดขึ้น อาจทำให้มีคำถามในความสัมพันธ์ตามมาเช่น เขาไม่เห็นคุณค่าฉันเลยหรอ? เขาเกลียดฉันหรอ? ฉันผิดตรงไหน?
เพื่อให้ผู้รับสารเจ็บปวดน้อยที่สุดการปฏิเสธแบบรักษาน้ำใจนั้นต้องใช้ความพยายามอย่างมาก พระคัมภีร์ได้ให้หลักการไว้แบบนี้ …
"จงพยายามรักษาความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันที่มาจากพระวิญญาณนั้น
โดยมีสันติภาพเป็นเครื่องผูกพัน"
เอเฟซัส 4:3 (THSV11)
วิธีการปฏิเสธยังไงให้เขาไม่เจ็บ กับสูตร 3 ส.
[นาทีที่ 9.45]
การปฏิเสธแบบรักษาน้ำใจนั้นมีหลายวิธี แต่วันนี้ชูใจจะมาแนะนำ การปฏิเสธแบบรักษาน้ำใจ ด้วยสูตร 3ส. (ประยุกต์จากหนังสือ *ลุงเดล คาร์เนกี)
- แสดงความ... ขอบคุณ – [นาทีที่ 11.05]
- แสดงความ... เสียใจ/เสียดาย – [นาทีที่ 12.55]
- เสนอ...ให้ทางออก – [นาทีที่ 13.47]
ตัวอย่างการปฏิเสธในสถานการณ์ต่างๆ
[นาทีที่ 15.10]
นอกจากเรื่องของความรู้สึกของเราที่ไม่กล้าปฏิเสธ ก็ยังมีบริบทต่างๆ ที่ทำให้เราพูดออกไปยากขึ้น เช่น อายุ ความสัมพันธ์ ตำแหน่งหน้าที่การงาน
ตัวอย่างกรณียากๆ ที่เรามักจะพบ ปฏิเสธยังไงดี? ...
- เมื่อมีคนมาชวนไปกินเหล้า – [นาทีที่ 16.17]
- เมื่อเพื่อนชวนไปดูหนัง ตอนที่งานยังไม่เสร็จ – [นาทีที่ 17.54]
- เมื่อมีคนมาขอให้ช่วยงานแต่เราไม่สามารถช่วย – [นาทีที่ 18.35]
- เมื่อมีคนมาเสนอความช่วยเหลือแต่เราจะขอไม่รับความช่วยเหลือนั้น – [นาทีที่ 20.25]
- เมื่อมีคนมาบอกชอบเราหรือขอเดท – [นาทีที่ 21.30]
หากปราศจากการแสดงออกด้วยความรัก หลักการปฏิเสธแบบไหนก็ไร้ผล!
[นาทีที่ 22.48]
ในสถานการณ์ยากๆ ที่เราจำเป็นต้องเลือกที่จะปฏิเสธ มีหลักการ 3 ส. ที่จะช่วยเราได้ คือ แสดงความขอบคุณ แสดงความเสียใจ และเสนอให้ทางออก แต่หลักการเหล่านี้จะไม่มีประโยชน์อะไรเลยหากท่าทีในการแสดงออกของเรานั้นปราศจากการกระทำด้วยความรัก (สามารถคลิกเพื่อฟัง วิธีการพูดด้วยความรักที่เราเคยพูดกันไปแล้วใน EP.1 ที่นี่ >>> “พูดตรงๆ ยังไงไม่ให้พัง” )
เราสามารถพึ่งพาสติปัญญาและความช่วยเหลือจากพระเจ้าได้
[นาทีที่ 24.19]
“การปฏิเสธควรตั้งอยู่บนความถูกต้องมากกว่าความถูกใจ”
การสร้างความสัมพันธ์สนิทสนมกับพระเจ้าจะช่วยเราได้ในสถานการณ์ที่ยากแก่การตัดสินใจ เมื่อเรารู้ว่าอะไรที่พระเจ้าเห็นว่าดี เราจะได้ตัดสินใจและรู้ว่าตอนไหนที่ต้องปฏิเสธอย่างถูกต้อง ถ้าเรื่องไหนที่เรายังไม่แน่ใจ หรือว่าเรื่องนั้นซับซ้อนเกินไปที่จะตัดสินใจในทันทีทันใด ให้เราเอาเรื่องนั้นมาอธิษฐานต่อพระเจ้า เพราะพระเจ้าทรงเปิดโอกาสให้เรา ทูลต่อพระองค์ในทุกๆ เรื่อง (ฟิลิปปี 4:6)
“บางครั้งเราอาจต้องขอพระเจ้ามอบคำพูดให้กับเราว่าเราควรจะปฏิเสธอย่างไร ขอพระองค์ดูแลทั้งจิตใจของเราและคนที่เราต้องพูดปฏิเสธ”
เพราะในชีวิตจริงคนเราไม่สามารถทำตามความต้องการของผู้อื่นตลอดเวลาได้เราจึงต้องเรียนรู้ที่จะปฏิเสธให้เป็น (เอาใจเขามาใส่ใจเรา)
_______________________________
ฟังแล้วลองฝึกกัน ลองถามตัวเองดูว่า...
● ทุกวันนี้เราปฏิเสธแบบรักษาน้ำใจ มากน้อยแค่ไหน?
● และถ้าเราจะปฏิเสธให้ดีขึ้น จะเริ่มต้นจากอะไรก่อน?
_______________________________
ขอขอบคุณที่ปรึกษาด้านเนื้อหา :
อ. เจนจิต เลิศมาลีวงศ์ อาจารย์ประจำหมวดวิชาพระคัมภีร์ใหม่ โรงเรียนคริสต์ศาสนศาสตร์แบ๊บติสต์ สวนพลู (TBTS)
*อ้างอิงหลักการบางส่วนจาก: หนังสือวิธีชนะมิตรและจูงใจคน (How to Win Friends and Influence People) ผู้เขียน เดล คาร์เนกี (Dale Carnegie) สำนักพิมพ์ แสงดาว
Thursday Aug 24, 2017
EP.1 - พูดตรงๆ ยังไงไม่ให้พัง [รู้เขารู้เรา]
Thursday Aug 24, 2017
Thursday Aug 24, 2017
การพูดตรงๆ มี 2 แบบ คือแบบ สร้างสรรค์ และ แบบไม่สร้างสรรค์
[นาทีที่ 8.30]
จริงๆ แล้วเราพูดตรงๆ กันตลอดเวลาในชีวิตประจำวัน เพราะมันคือการสื่อสารสิ่งที่อยู่ในใจเราออกไปยังอีกคนนึงอย่างตรงไปตรงมา เช่น หยิบนี่ให้หน่อย ช่วยทำอันนี้ที ทั้งนี้บางทีการพูดตรงก็อาจสร้างบาดแผลได้ เพราะ ความจริงใจ + ความหวังดี อาจไม่สร้างสรรค์เพียงพอ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่รับสารตรงๆ ได้ การพูดที่ดีต้องมีการปรุงรส ก็คือการพูดตรงๆ แบบสร้างสรรค์นั่นเอง
การพูดจากใจที่ขาดความเข้าใจ อาจทำร้ายจิตใจโดยไม่ได้ตั้งใจ
[นาทีที่ 10.50]
ในอีกมุมการที่บางคนเลือกที่จะพูดตรงๆ ออกมา เค้าไม่ได้ต้องการจะทำร้ายเรา แต่เพราะเค้าคิดว่า มันคือความจริงใจ เป็นการพูดในสิ่งที่มันออกมาจากใจ และเพราะสนิทกันจึงไม่จำเป็นต้องประดิษฐ์คำอะไรมากมาย เพราะการเรียนรู้ที่ผ่านมาหรือสภาพแวดล้อมที่เค้าเติบโตมาอาจหล่อหลอมให้เค้าเป็นแบบนั้น ทำให้เค้าคิดว่าการพูดตรงๆ คือความจริงใจ ดังนั้นอย่าพึ่งไปปิดประตูใจของเรา
พระคัมภีร์ได้ให้หลักการของการพูดอย่างสร้างสรรค์ไว้ว่า นอกจากความจริงต้อง + ความรักลงไปด้วย
“จงพูดความจริงด้วยความรัก”
เอเฟซัส 4:15 (TNCV)
เข้าใจเรื่ององค์ประกอบในการสื่อสาร
[นาทีที่ 14.35]
คนเราสื่อสารมากกว่าแค่คำพูดและผู้รับสารก็แปลความหมายจากสิ่งที่เขาเห็นมากว่าได้ยินเสียอีก *งานวิจัยของ ดร.อัลเบิร์ต เมห์เรเบียน พบว่าองค์ประกอบในการสื่อสารของมนุษย์ มี 3 รูปแบบหลักๆ คิดเป็น % ในการสื่อสารดังต่อไปนี้
1. คำพูด (wording) 7%
2. น้ำเสียงและโทนเสียง 38%
3. ภาษากาย 55%
วิธีการพูดความจริงแบบสร้างสรรค์
[นาทีที่ 17.25]
การพูดด้วยความรัก นั้นมาจาก ภาษากายและน้ำเสียง (อวัจนะภาษา)
เพราะ มนุษย์เราใช้ภาษากายและน้ำเสียงในการสื่อสารมากถึง 93% (งานวิจัย element of personal communication)
ดังนั้นการพูดด้วยความรักคือ การพูดจาก
● น้ำเสียง (ด้วยความรัก) - [นาทีที่ 17.32]
● สีหน้า (ด้วยความรัก) - [นาทีที่ 21.08]
● และท่าทาง (ด้วยความรัก) - [นาทีที่ 24.45]
คำแนะนำในการการคุยโทรศัพท์และการแชท
[นาทีที่ 27.15]
ในการคุยโทรศัพท์เราไม่สามารถสื่อสารภาษากายเรื่องท่าทาง น้ำเสียงจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ถึงอย่างนั้นถ้าเรายิ้มไปด้วยและพูดคุยไปด้วยน้ำเสียงก็จะเป็นมิตรขึ้น สำหรับการแชทนั้นไม่มีทั้งท่าทางและน้ำเสียงทำให้การสื่อสารมักคลาดเคลื่อนและมีปัญหาเข้าใจไม่ตรงกัน ข้อควรระวังคือไม่ควรพิมพ์เฉพาะข้อมูลห้วนๆ เราอาจใช้วิธีการใส่ข้อความแสดงอารมณ์หรือสติ๊กเกอร์อิโมติค่อนก็ช่วยได้บ้าง แต่หากจำเป็นต้องคุยเรื่องซีเรียสควรหลีกเลี่ยงการแชท อาจใช้การโทรหรือเจอกันหน้าต่อหน้าจะดีกว่า
“การที่เราจะพูดหรือแสดงบางสิ่งบางอย่าง ทุกอย่างล้วนออกมาจากใจ คำพูด น้ำเสียงและท่าทางที่เราแสดงออกมามันจะสอดคล้องกับสิ่งที่อยู่ข้างในใจของเรา” - [นาทีที่ 29.40 ]
สรุป :
นอกจากคำพูดแล้วเราก็ควรสื่อสารด้วยการแสดงออกทางภาษากายด้วย เพราะการแสดงออกทางภาษากายนั้นส่งผลต่อการรับรู้ได้มากกว่าตัวคำพูดเองซะอีก การใส่ใจในภาษากายในขณะที่เราสื่อสารจะช่วยให้เราสามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ เข้าถึง ละไม่มีกำแพงในการสื่อสาร
_______________________________
ฟังแล้วลองฝึกกัน อยากให้น้องๆ ลองถามตัวเองดูว่า...
● เราพูด(ด้วยความรัก)มากน้อยแค่ไหน?
● และถ้าเราจะพูด(ด้วยความรัก)ให้มากขึ้น ...เราจะเริ่มจากอะไรก่อน?
_______________________________
ขอขอบคุณที่ปรึกษาด้านเนื้อหา :
อ. เจนจิต เลิศมาลีวงศ์ อาจารย์ประจำหมวดวิชาพระคัมภีร์ใหม่ โรงเรียนคริสต์ศาสนศาสตร์แบ๊บติสต์ สวนพลู (TBTS)
*อ้างอิง งานวิจัยของ ดร.อัลเบิร์ต เมห์เรเบียน : http://www.speakingaboutpresenting.com/presentation-myths/mehrabian-nonverbal-communication-research/